แนวโน้มการใช้เหล็กไทยปี 2568 จะเติบโต 1.7% จากโครงการรัฐ แต่ราคายังลดลงต่อเนื่องจากแรงกดดันเหล็กนำเข้าราคาถูก ขณะผู้ผลิตในประเทศเผชิญศึกแข่งขันรุนแรง
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ได้เปิดเผยการวิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมเหล็กของไทยในปี 2568 จะยังเผชิญความท้าทายจากแรงกดดันของเหล็กนำเข้าราคาถูก โดยเฉพาะจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
แม้คาดว่าปริมาณการใช้เหล็กในประเทศจะเพิ่มขึ้น 1.7% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 16.2 ล้านตัน แต่ราคายังคงลดลงต่อเนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานที่ลดลง โดยราคากลางของเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบนปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 20,900 บาท/ตัน และ 22,700 บาท/ตัน ลดลง 3.9% และ 5.6% ตามลำดับ
แรงขับเคลื่อนหลักของการเติบโตในปีนี้ มาจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้าจากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบขนส่ง สาธารณูปโภค และการก่อสร้างขนาดใหญ่ แต่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงซบเซา ขณะที่ยอดผลิตรถยนต์ในประเทศยังมีแนวโน้มลดลง
ด้านการผลิตในประเทศ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยราว 2.3% มาอยู่ที่ 6.4 ล้านตัน โดยเฉพาะในกลุ่มเหล็กทรงยาวสำหรับการก่อสร้าง แต่การผลิตเหล็กทรงแบนยังถูกกดดันจากการแข่งขันกับเหล็กนำเข้า ซึ่งส่งผลให้ระดับการใช้กำลังการผลิตยังต่ำกว่า 60% โดยเฉพาะในกลุ่มเหล็กรีดร้อนซึ่งต่ำเพียง 32%
ปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อผู้ผลิตไทยคือ การนำเข้าเหล็กราคาถูกจากจีนที่ยังคงล้นตลาด หลังเผชิญภาวะ Overcapacity จากภาคอสังหาฯ ในประเทศจีนไม่ฟื้นตัว ขณะที่มาตรการของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาล “ทรัมป์ 2.0” ที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก 25% มีแนวโน้มให้ประเทศที่เคยได้รับการยกเว้น เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ หันมาระบายสินค้ามายังไทยแทน
ในระยะสั้น เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ส่งผลต่อโครงสร้างอาคารในช่วงเดือนมีนาคม ทำให้เกิดแรงขับเรื่องมาตรฐานสินค้าเหล็ก โดย SCB EIC คาดว่าอาจเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตเหล็กไทยที่มีมาตรฐานอุตสาหกรรม ได้รับความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น
ขณะที่ในระยะยาว อุตสาหกรรมเหล็กไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวสู่การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองรับเทรนด์โลก เช่น Carbon Neutrality และ CBAM ของสหภาพยุโรป โดยกลุ่มผู้ผลิตที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใช้พลังงานสะอาด และจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ จะมีแต้มต่อในการแข่งขันสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม SCB EIC ยังระบุว่า ภาครัฐจำเป็นต้องสนับสนุนด้วยมาตรการเชิงรุก อาทิ การปรับภาษีนำเข้า การคุมเข้มมาตรการ Anti-Dumping และ Anti-Circumvention รวมถึงการควบคุมคุณภาพสินค้าเหล็กนำเข้า เพื่อรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมเหล็กไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน